‘ชะอวดโมเดล’ ต้นแบบการบริหารจัดการมังคุดในและนอกฤดู จ.นครศรีธรรมราช เน้นรวมกลุ่ม ผลผลิตได้มาตรฐาน GAP

ข่าวที่ 55/2567 วันที่ 2 พฤษภาคม 2567
‘ชะอวดโมเดล’  ต้นแบบการบริหารจัดการมังคุดในและนอกฤดู จ.นครศรีธรรมราช
เน้นรวมกลุ่ม ผลผลิตได้มาตรฐาน GAP
             นายนิกร แสงเกตุ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 สุราษฎร์ธานี (สศท.8) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) เปิดเผยว่ามังคุดนับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญและสร้างรายได้ให้กับจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยในปี 2567 (ข้อมูลจากผลการประชุมคณะทำงานย่อยเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกส์ภาคใต้ ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567) จังหวัดนครศรีธรรมราช มีเนื้อที่ปลูกมังคุดเป็นอันดับ 1 ของภาคใต้ จำนวน 96,585 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 41.31 ของเนื้อที่ปลูกทั้งภาคใต้ โดยมีอำเภอชะอวดเป็นต้นแบบการผลิตมังคุดในฤดูและนอกฤดู เป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้เกษตรกรได้มีรายได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเป็นที่ต้องการของตลาดจีนได้บริโภคอย่างต่อเนื่องตลอดปี ซึ่งอำเภอชะอวดมีการบริหารจัดการมังคุดโดยใช้ “ชะอวดโมเดล” เป็นต้นแบบในการบริหารจัดการผลผลิต โดยเน้นการรวมกลุ่มของเกษตรกรในพื้นที่ วางระบบการผลิต และการบริหารจัดการแปลงในแนวทางเดียวกัน เน้นการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด สินค้าต้องได้มาตรฐานการรับรอง GAP นำไปสู่การสร้างเสถียรภาพของราคาสินค้าเกษตรได้อย่างยั่งยืน
              จากการติดตามของ สศท.8 พบว่า ในพื้นที่อำเภอชะอวดมีแปลงใหญ่มังคุด จำนวน 6 แปลง และวิสาหกิจชุมชนมังคุด จำนวน 11 กลุ่ม ได้นำชะอวดโมเดลมาเป็นต้นแบบการผลิตมังคุด สำหรับปี 2566 แปลงใหญ่และวิสาหกิจชุมชน มีต้นทุนการผลิตมังคุดในฤดูและนอกฤดูเฉลี่ย 15,388 บาท/ไร่/ปี เกษตรกรจะเก็บเกี่ยวมังคุดในฤดูช่วงเดือนมิถุนายน – ตุลาคม มังคุดนอกฤดูช่วงเดือนมกราคม - พฤษภาคม และช่วงเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม ผลผลิตมังคุดในฤดูและนอกฤดูเฉลี่ย 1,175 กิโลกรัม/ไร่/ปี ซึ่งแปลงใหญ่และวิสาหกิจชุมชนมีการบริหารจัดการโดยการรวมกลุ่มขายมังคุดด้วยวิธีการประมูล ซึ่งราคาประมูลต้องมากกว่าราคาตลาดทั่วไปอย่างน้อย 10 บาท ได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 70,483 บาท/ไร่/ปี และผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 55,095 บาท/ไร่/ปี ราคาที่เกษตรกรขายได้ ปี 2566 มังคุดในฤดู ราคาเฉลี่ย 35 - 40 บาท/กิโลกรัมและมังคุดนอกฤดู ราคาเฉลี่ย 92 - 95 บาท/กิโลกรัม ด้านสถานการณ์ตลาด มังคุดในฤดูส่งจำหน่ายภายในประเทศ และส่งออกตลาดต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะส่งไปยังประเทศจีนที่เป็นตลาดรับซื้อหลักโดยผ่านล้งเป็นผู้รวบรวมและคัดเกรดผลผลิต และมังคุดนอกฤดู ส่วนใหญ่จะส่งออกประเทศจีนเป็นหลัก ซึ่งตลาดประเทศจีนจะกำหนดขนาดมังคุดในฤดูและนอกฤดูต่อลูก ได้แก่ เบอร์1 ผิวมันหูเขียว ลูกขนาด 75 กรัมขึ้นไป เบอร์ 2 ลูกลาย ผิวสวยหูเขียว ลูกขนาด 75 กรัมขึ้นไป และเบอร์ 3 ตกไซต์  ผิวมันหูเขียวลูกขนาดต่ำกว่า 75 กรัม
             “สำหรับแนวทางการพัฒนาชะอวดโมเดลให้มีความเข้มแข็งและพัฒนาได้อย่างยั่งยืนนั้น สามารถทำได้โดยการบริหารจัดการที่ดี รักษาคุณภาพและพัฒนาการส่งออก เพิ่มประสิทธิภาพทั้งด้านการผลิต และด้านตลาด สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างอำนาจการต่อรอง นอกจากนี้ แปลงใหญ่และวิสาหกิจได้มีแนวทางบริหารจัดการมังคุดในช่วงที่ผลผลิตออกตลาดมาก คือการนำผลผลิตมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า อาทิ ไวน์มังคุด สบู่มังคุด มังคุดคัด มังคุดฟรีซดราย อีกทั้ง ยังตั้งเป้าจะพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรแวะ ชิม ชม สวนมังคุด เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชนอีกทางหนึ่ง หากท่านใดสนใจข้อมูลสถานการณ์การผลิตมังคุดและการบริหารจัดการมังคุดภายใต้ชะอวดโมเดล สามารถติดต่อ สอบถามได้ที่ ร.ต.อรุณ บุญวงศ์ ประธานแปลงใหญ่มังคุดและประธานเครือข่ายมังคุดภาคใต้ โทร 09 0925 2644 หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.8 โทร 0 7731 1641 หรืออีเมล zone8@oae.go.th” ผู้อำนวยการ สศท.8 กล่าวทิ้งท้าย
************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 สุราษฎร์ธานี